รองปลัด ศธ. “วรัท” เปิดประชุมจัดทำหลักเกณฑ์ “Scout Newgen” ย้ำ กิจกรรมลูกเสือ ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ตามช่วงวัย

(25 มีนาคม 2567) ดร.วัรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิด
การประชุมจัดทำหลักเกณฑ์การประกวดสื่อสร้างสรรค์ Scout Newgen ปี 2 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 27 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมเอวานา แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมีนายอำนาจ สายฉลาด ผู้อำนวยการสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน และคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วย ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม ในฐานะประธานกรรมการฯ รองศึกษาธิการจังหวัดสตูล ในฐานะรองประธานกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิทางการลูกเสือและเทคโนโลยีสารสนเทศ จากสำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 40 คน
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีโยบายการส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ และสอดคล้องกับยุคสมัย ทันการณ์ และนำไปใช้งานได้จริง สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ จึงจัดทำแผนการพัฒนาลูกเสือไทย (พ.ศ. ๒๕๖๗ – ๒๕๗๐) เพื่อเป็นทิศทางของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำแผนไปปฏิบัติ โดยมุ่งส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนเป็นพลเมืองดี เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ “เรียนดี มีความสุข”
กิจกรรมลูกเสือ ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยให้เด็กและเยาวชนกลับมามีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของสังคมและประเทศชาติ โดยผ่านวิธีการลูกเสือ (Scout Method) ซึ่งไม่ใช่การเรียนการสอนในชั้นเรียน แต่เป็นโปรแกรมการฝึกอบรมเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการและความสนใจตามช่วงวัย มุ่งพัฒนา ฝึกฝน บ่มเพาะความรู้ ทักษะเจตคติ และคุณลักษณะที่ดี ก่อเกิดเป็นสมรรถนะที่นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิต เพื่อช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม
โครงการประกวดสื่อสร้างสรรค์ Scout Newgen
ถือเป็นโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านพัฒนากิจกรรมลูกเสือ (Scout Activities) โดยส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนากิจกรรมลูกเสือในทุกมิติและทุกภาคส่วน ส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือเน้นกระบวนการฝึกฝน ฝึกอบรม ไม่ใช่กระบวนการเรียนการสอน เป็นโปรแกรมการจัดกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับเด็กและเยาวชน ให้ได้กระทำหรือฝึกด้วยการปฏิบัติจริงที่ก้าวหน้า สอดคล้องกับยุคสมัย ทันการณ์ สนุกสนาน ดึงดูดใจ เกิดความภาคภูมิใจ เหมาะสมกับช่วงวัย รวมทั้งประโยชน์อันพึงจะได้รับจากการปฏิบัติหรือนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ